2/13/2555


ความหมายและความเป็นมาของใบบาง

      ใบบางหรือกระดูกใบไม้ที่นำมาประดิษฐ์ดอกไม้มาจากใบไม้ที่ที่เนื้อเยื่อของใบได้หลุดออกไปจากการหมักหมมเป็นเวลานานและเมื่อมีน้ำเซาะผ่านใบไม้เหล่านี้เนื้อเยื่อก็จะหลุดหายไปยังคงเหลือสภาพโครงสร้างเปรียนบได้กับกระดูกของใบไม้โดยธรรมชาติของใบไม้ทุกชนิด ต้องมีโครงสร้างใบเพื่อไว้เป็นเส้นทางเดินในการลำเลียงอาหาร ซึ่งโครงสร้างใบที่เหลือสามารถนำมาใช้ในงานประดิษฐ์ได้

วิธีการสร้างสรรค์งานจากใบบาง

     นำใบไม้สด ๆ จากต้นมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ให้เหลือแต่โครงสร้างบาง ๆ พร้อมที่จะนำไปทำดอกไม้หรือผลงานรูปแบบต่าง ๆ ด้วยกระบวนการง่าย ๆ และสะดวก โดยวิธีการดังนี้

     1.การคัดเลือกใบ ก่อนอื่นเราต้องทำการคัดเลือกใบไม้ก่อนโดยวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ ใบไม้ทุกชนิดที่เรา จะใช้จะต้องมีโครงสร้างใบชัดเจน คือ เป็นใบเลี้ยงคู่ สังเกตง่าย ๆ คือ ดึงใบไม้มาและฉีกถ้ามีโครงสร้างเป็นเส้น ๆ ติดอยู่แสดงว่าใช้ได้เก็บใบไม้จากต้นสด ๆ มาเลือกดูใบที่สมบูรณ์ และมีขนาดอายุไม่อ่อนหรือแก่เกินไปเด็ดเป็นใบ ๆ เตรียมไว้ ส่วนใหญ่ใบที่ใช้ทำก็จะมีใบโพธิ์ ใบตะโก ใบข่อย ใบยางพารา ใบการเวก ใบจำปี ใบแก้ว ใบคูน ใบขี้เหล็ก ใบมะขามเทศ หรือฝรั่ง ฯลฯ

     2.วิธีทำใบไม้ให้เป็นใบบาง

     วิธีที่ 1 การหมักใบด้วยวิธีธรรมชาติ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด และเป็นวิธีที่ผู้เขียนนิยมใช้ เป็นวิธีง่าย ๆ และทำให้โครงสร้างใบมีความแข็งแรง ทนทาน รูปทรงใบสวย เพราะไม่ผ่านสารเคมีอะไรเลย เพียงแต่นำใบที่เตรียมไว้ในข้อ 1 มาใส่ลงในภาชนะ ถ้าจะให้ดีควรเป็นภาชนะที่เป็นโอ่งหรือกระเบื้องดินเผา กระเบื้องเคลือบ และใส่น้ำให้ท่วมใบไม้ทิ้งไว้จนกว่าใบจะเน่าและขึ้นพองให้ใช้ไม้กดทับให้จมน้ำทุกใบ ทิ้งไว้อีกสักระยะหนึ่งคลอโรฟีลล์สีเขียว ๆ ก็จะหลุดไปเหลือแต่โครงสร้างบาง ๆ สีน้ำตาลอ่อน ๆ ให้นำมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด วิธีนี้ต้องรู้จักสังเกตทุกระยะเพราะใบไม้แต่ละชนิดมีการเน่าสลายไม่เท่ากัน ใบไหนที่ยังเน่าไม่หมดนำไปแช่ไว้เหมือนเดิมรอจนกว่าจะเน่าหมด ไม่ต้องใช้แปรงแปรงเยื่อออกเพราะจะทำให้ใบขาดและเสียเวลาด้วยเมื่อล้างน้ำสะอาดแล้ว ให้นำไปผึ่งแดดหรือลมให้แห้งเพื่อเก็บไว้ใช้งาน ในระยะเริ่มแรกเราคงต้องอยากเห็นใบไม้ที่หมักเป็นใบบางเร็ว ๆ ผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้ใบที่โครงสร้างไม่หนามากและไม่ค่อยมียางติดอยู่ เช่น ใบจำปี ใบข่อย เพราะจะใช้เวลานานกว่าใบไม้ที่ไม่มียาง

     วิธีที่ 2 วิธีการต้มใบไม้ ขั้นตอนง่าย ๆ คือ นำสบู่ซัลไลต์หรือสบู่กรดมาฝานบาง ๆ โดยใช้อัตราส่วนโดยประมาณ คือ ใบไม้ 1,000 ใบ ขนาดใบยาวประมาณ 5 – 6 นิ้ว ใช้สบู่ 5 ก้อน ถ้าใบไม้มียางใช้สบู่ 10 ก้อน ใส่น้ำจนท่วมใบไม้ ใส่สบู่ตั้งไฟต้มประมาณ 3 – 5 ชั่วโมง หรือจนกว่าใบไม้จะเปื่อยเหลือแต่ใบบาง ๆ และนำใบไปล้างน้ำให้สะอาดนำไปผึ่งให้แห้ง เพื่อเก็บไว้ใช้งาน ใบไม้ที่ได้จากวิธีการทั้ง 2 วิธี จะมีใบสีน้ำตาลอ่อนดังที่แจ้งไว้ ถ้าต้องการให้ใบไม้มี สีขาวก็นำไปทำการฟอกสีได้ด้วยวิธีดังนี้ 1.นำใบที่ทำไว้มาใส่ในภาชนะ และใส่น้ำยาฟอกขาวไฮเตอร์ ในอัตราส่วน โดยประมาณไฮเตอร์ 1 ลิตร ผสมน้ำ 6 ลิตร ต่อใบไม้ 1,000 ใบ หรือถ้าเป็นไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (ครอลอค) ใช้อัตราส่วน 1 ลิตร : น้ำ 15 ลิตร 2. นำใบยางมาแช่ในน้ำยาฟอกขาวสังเกตดูถ้าขาวตามต้องการแล้วก็ให้นำขึ้นมาล้าง น้ำเปล่าให้สะอาด และนำใบไปผึ่งให้แห้งเก็บไว้ใช้ได้ต่อไป จากกรรมวิธีง่าย ๆ ที่กล่าวไปแล้วนั้นคงสามารถนำใบไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือใบไม้ ที่ปลูกอยู่ในบ้านที่มีโครงสร้างเส้นใยชัดเจน หรือรูปทรงใบสวยงามก็สามารถนำมาทำเป็นใบยางได้ง่าย ๆ เพียงแต่ต้องอดใจรอให้ใบเน่าเปื่อยจนเหลือแต่โครงสร้าง วิธีที่ดีที่สุดก็คือ วิธีหมักโดยธรรมชาติ แต่ถ้าใช้วิธีต้มจะทำให้สิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่าย และโครงสร้างใบก็จะไม่แข็งแรงส่งผลต่อการย้อมสีทำให้การติดสีไม่สวยและไม่ทนทาน เมื่อทราบวิธีการทำใบบางแล้วต่อไปนี้ก็คงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่อยากรู้ ดอกไม้หรือชิ้นงานแทบทุกชิ้น จะดูสวยงาม สะดุดตา น่ามองมากเพียงไรนั้น สีคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลถึงความรู้สึกได้



วิธีการลงสีใบยาง สีย้อมดอกไม้โดยทั่ว ๆ ไป แบ่งเป็น 2 ประเภท

-สีร้อน มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายด่างทับทิม เวลาที่จะใช้ต้องนำน้ำร้อนผสมคนให้ละลาย เพื่อให้เม็ดสีแตกให้หมด มิฉะนั้นเวลาเราใช้กับชิ้นงานทำให้ขึ้นจุดเม็ดเล็ก ๆ ทำให้เนื้อสีไม่เนียนสวย

-สีเย็น มีลักษณะเป็นผงละเอียดเวลาใช้จะต้องนำน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดามาผสมและคนให้สีละลายก่อนนำมาใช้งาน สีทั้ง 2 ชนิดนี้ มีให้เลือกตามท้องตลาด และร้านขายอุปกรณ์งานประดิษฐ์ดอกไม้ และงานประดิษฐ์โดยทั่ว ๆ ไป ขั้นตอนการลงสี ต่อไปนี้ก็จะมาถึงกรรมวิธีที่สำคัญ ทำอย่างไรดอกไม้ที่ทำจะมีสีสวยงาม สะดุดตา แปลกตาแก่ผู้พบเห็น เรามารู้จักขั้นตอนที่ถูกวิธีและเทคนิคต่าง ๆ กัน วิธีการลงสีด้วยการจุ่ม



วิธีนี้เป็นวิธีการแบบพื้นฐานโดยทั่ว ๆ ไป ไม่มีขั้นตอนมาก เพียงแต่ผสมสีกับน้ำตามสีที่ชอบซึ่งปัจจุบันจะสะดวก ไม่ต้องผสมจากแม่สี แต่ใช้สีที่ได้ผสมมาแล้วละลายน้ำได้เลยเข้มอ่อนตามชอบ นำใบยางไปจุ่มลงในสีทั้งใบ และนำมาวางบนแผ่นกระจกหรือแผ่ไม้ฟอเมก้าสีขาว รอจนแห้งสนิทดีจึงเก็บไว้ใช้งาน แต่ถ้าต้องการให้กลีบดอกไม้มี 2 หรือ 3 ไล่ระดับ อ่อน กลาง เข้ม ก็ผสมสีทั้งหมด 3 ถ้วย ไล่สีตามระดับ นำกลีบดอกไม้หรือใบไม้ไปจุ่มใส่ถ้วยสีอ่อนทั้งใบ และมาวางไว้ให้หมาดแล้วนำไปจุ่มสีกลางครึ่งใบวางไว้ให้หมาด และจุ่มสีเข้มปลายใบวางไว้ให้แห้งสนิท ก็จะได้กลีบดอกไม้ที่มีสีสวยงามไล่โทนสีอ่อนกลางเข้มที่สวยงาม วิธีการลงสีด้วยการปัดพู่กัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ยากขั้นมาอีกระดับหนึ่ง ขั้นตอนมากขึ้น แต่กลีบดอกไม้หรือชิ้นงานจะออกมาสวยงาม สีของกลีบดอกไม้จะฉ่ำสวย มีความเข้มข้น และเนียนตา การผสมสีเหมือนกับวิธีจุ่ม แต่เพิ่มพู่กันสำหรับระบายสีโดยในแต่ละสีเราจะไม่ใช้พู่กันปนกัน เพราะจะทำให้สีไม่ไล่โทน ขั้นแรกก็คือนำใบไม้ไปจุ่มในสีอ่อนทั้งใบ และวางลงบนพื้นฟอเมก้าระบายทีละ 5 กลีบ รอจนกลีบที่วางหมาดนำพู่กันปลายตัดที่เตรียมไว้จุ่มสีกลาง และนำมาปัดตรงปลายกลีบดอกไม้ลึกลงมาประมาณ 2 ใน 5 ของความยาวกลีบรอจนหมาด ใช้พู่กันอีกอันหนึ่งจุ่มสีเข้ม และนำมาปัดตรงปลายกลีบโค้งโดยรอบลึกประมาณ 1 เซนติเมตร รอจนแห้งสนิท เราก็จะได้กลีบดอกไม้ใบยางที่สวยงามถ้าดอกไม้หรือชิ้นงานต้องดามลวดเรานิยมใช้เบอร์ 30 และต้องย้อมลวดที่เป็นสีขาวให้มีสีเดียว เหมือนกับกลีบดอกไม้ด้วย จึงจะได้ผลงานที่สวยงาม ในการลงสีกลีบดอกไม้ใบยางทั้งวิธีจุ่มและวิธีปัดด้วยพู่กัน เทคนิคที่จะทำให้สีสวยงาม เนียน เรียบ คือคุณต้องลงสีด้วยความใจเย็น รอให้สีแรกหมาดก่อนจึงลงสีต่อไปได้ เท่านี้จะได้ผลงานที่สวยงาม เมื่อทราบวิธีการทำใบไม้ให้เป็นใบยาง การลงสีใบไม้แล้วก็ควรที่จะต้องทราบถึงวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นในการนำมาประดิษฐ์ดอกไม้ใบยางและผลงานต่าง ๆ ใบไม้แต่ละใบมีคุณสมบัติในการประดิษฐ์เป็นดอกไม้หรือชิ้นงานแตกต่างกันไป เราต้องรู้จักที่จะสังเกตคุณสมบัติ คุณลักษณะของโครงสร้างใบไม้ เราจึงจะสามารถนำจุดเด่นของแต่ละโครงสร้างใบมาใช้ เพื่อเป็นการแนะนำ และทำความรู้จักผู้เขียนจะกล่าวถึงคุณลักษณะเด่นของใบไม้แต่ละใบพอสังเขป เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน ใบโพธิ์ คุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำดอกไม้ ทำนกยูง ของชำร่วยประเภทถุงบุหงาต่าง ๆ ของใช้ ทั่ว ๆ ไป เช่น นำไปบุตะกร้า ทำโบตกแต่งต่าง ๆ ใบแก้ว ใบข่อย ใบฝรั่ง เหมาะสำหรับทำดอกไม้ติดเสื้อ ติดผม ทำตัวสัตว์ หรือแมลง ด้วยมีโครงสร้างบางละเอียด และมีใบที่มีโครงสร้างพลิ้ว ใบคูน ใบการเวก ใบมะขามเทศ ใบเชอรี่ เหมาะสำหรับทำดอกไม้ที่มีรูปทรงชัดเจนอยู่ตัวและมีรูปแบบโดดเด่น เพราะโครงสร้างใบจะละเอียด นิ่ม และมีการยืดตัวหดตัวดีเวลาม้วนหรือดัดจะอยู่ตัวและ คงรูปได้ดี ใบจำปี ใบมะเกลือ เหมาะสมในการทำดอกไม้ที่ต้องตัดเป็นรูปแบบกลีบ และต้องใช้ 2 กลีบซ้อนกันเพราะโครงสร้างจะบางโปร่งเหมือนผ้าแพรเยื่อไม้ และที่ทำได้สวยงามก็คือ ใช้ทำโบ ตกแต่งกระเช้า ตะกร้า แจกัน โดยนำริบบิ้นสวย ๆ มาติดริมใบ จะให้ความรู้สึกโปร่งตา พลิ้วสวยงามมาก และสามารถนำมาทำนกยูงได้ เพราะมีใบโปร่งสวยงาม ใบตะโก ใบขี้เหล็ก เป็นใบที่มีโครงสร้างเนื้อเยื่อหนา แต่เนียน เรียบ และละเอียด มีโครงสร้างใบตรงกลางแตกแขนงเล็ก ๆ เหมาะสำหรับทำดอกไม้ประเภทดอกบัว ใบยางพารา มีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นใบบางอเนกประสงค์ ทำผลงานได้หลากหลายชนิด ทั้งดอกไม้ ของใช้ ของชำร่วย ของตกแต่ง ด้วยมีใบแข็งแรง โครงสร้างชัดเจน และยืดหยุ่นดี วัสดุ



 อุปกรณ์ที่จำเป็นในการประดิษฐ์งานใบยาง

1. ใบยาง                                                16. ภาชนะใส่สี

2. สีย้อมร้อนและสีย้อมเย็น                   17. แผ่นรองระบายสี (กระจกหรือฟอเมก้า)

3. ลวดก้านสำเร็จ เบอร์ 21 – 30            18. กระดาษสา

4. กาว                                                    19. กระดุมพลาสติก

5. ด้าย                                                    20. กรรไกรตัดลวด

6. กระดาษย่นหน้าเดียว, สองหน้า        21. ตุ้มโฟม

7. ฟลอร่าเทป                                        22. ไม้ลูกชิ้น

8. เส้นป่านศรนารายณ์                          23. กระดาษทิชชู

9. พู่กันปลายตัดเบอร์ 18,16                  24. โฟม

10. ผ้าออร์แกนซ่าสีเขียว, ผ้ากำมะหยี่  25. ผ้าอัดกลีบใบไม้

11. ก้านต้น                                           26. ปากคีบ

12. เกสรดอกไม้                                   27. ผ้าโปร่งตาข่าย

13. ลูกปัด, เม็ดมุก                                28. ริบบิ้นสีทอง

14. สเปรย์สีทอง                                   29. ดิ้นทอง

15. เทปสีทอง                                       30. กอรวงข้าวพลาสติก











                                                            


                                                           งานประดิษฐ์จากใบบาง

ติดต่อเรา

โรงเรียนบ้านห้วยยาง

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

นรครราชสีมา เขต 6

TEL.044430212 , 089844531